ป้ายกำกับ: ผู้สูงอายุ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้หากมองไปรอบๆ ตัวจะพบว่าประชากรทุก 5 คนจะมีผู้สูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี 1 คน  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ ดังกล่าว และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ จึงดำเนินการสร้างอาคารเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรขึ้น

 

โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2558 อาคารนี้สร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมมายุ 60 พรรษา และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารว่า “อาคาร ส.ธ.”  ถือเป็นศูนย์การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือแพทย์ทันสมัย และการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการให้บริการ ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

 

ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวการ ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาคาร ส.ธ. ซึ่งมีพื้นที่ 18 ชั้นที่มีหน่วยให้บริการดูแลผู้สูงวัยในทุกๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การตรวจหาอาการผิดปกติของร่างกายในเชิงป้องกันและชะลอความเสื่อม มีคลินิกสูงวัยสุขภาพดี ที่เน้นให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวและการวางแผนชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ  เมื่อมีการตรวจพบอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรก ก็จะมีการส่งต่อผู้สูงอายุเข้าสู่คลินิกเฉพาะทางที่ตั้งอยู่ในอาคารแห่งนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ศูนย์พาร์กินสัน ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ ศูนย์การเดินและเคลื่อนไหว ศูนย์ฝึกสมอง ศูนย์ ฟื้นฟูสมอง ศูนย์สุขภาพชาย ศูนย์ฝึกทักษะการพูด การได้ยิน การกลืน การทรงตัวและการมองเห็น เป็นต้น

 

เพื่อเป็นต้นแบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันกลุ่มอาการเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะหกล้มบ่อย สำลัก ปัญหาการมองเห็น การได้ยิน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น รวมถึงโรคหรือภาวะร่วมที่เรียกว่าโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตในทุกด้านได้อย่างมีความสุข

 

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่สนใจสามารถใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิประกันสังคมได้เช่นเดียวกับการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป

 

“แม้ อาคาร ส.ธ. จะยังไม่เปิดให้บริการในทุกส่วน แต่ปัจจุบันก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานในส่วนที่เปิดให้บริการ และเนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ทำงานควบคู่กับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาโดยตลอด

นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โรงพยาบาลจึงมีเป้าหมายในการผลิตองค์ความรู้และบุคคลากรเพื่อดูแลสุขภาพของคนในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น การวิจัยต่างๆ ในอนาคตอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานในอาคารแห่งนี้

 

Cr :.thaihealth